อาหารหลังคลอด ทางการแพทย์แผนจีน
ในมุมมองของแพทย์แผนจีน สตรีหลังคลอดจะมีภาวะ “ลมปราณและเลือดพร่องอย่างรุนแรง” จากการมีเลือดออกและความเหนื่อยล้า ดังนั้นจึงมีหลักการทานอาหารที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายในช่วงนี้ด้วยเช่นกัน
อาหารหลังคลอด
“อาหาร” หรือในศัพท์ทางแพทย์แผนจีนที่เรียกได้ว่าเป็น “ธาตุดิน” ซึ่งก่อกำเนิดทุกสิ่งทุกอย่าง และแน่นอนว่า ถ้าหากเราทานอาหารที่ผิดแผกไป ก็จะส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพเช่นกัน
ถ้าเช่นนั้นแล้ว อาหารที่ดีในระยะหลังคลอดจะต้องเป็นอย่างไร ?
1. หลักสำคัญคืออุ่นบำรุง (温补)
ในมุมมองของแพทย์แผนจีน สตรีหลังคลอดจะมีภาวะ “ลมปราณและเลือดพร่องอย่างรุนแรง” จากการมีเลือดออกและความเหนื่อยล้า การใช้แรงเบ่งระหว่างการคลอดบุตร
《ซู่เวิ่น • อินหยางอิงเซี่ยงต้าลุ่น》: “สิง (形 รูปร่าง) ไม่เพียงพอ, อุ่นด้วยลมปราณ, จิง (精 จิง สารจิง สารจำเป็น) ไม่เพียงพอ, บำรุงด้วยรส”*
การแบ่งอาการลมปราณพร่องด้วยอินและหยาง แบ่งได้เป็น 形不足 สิงไม่เพียงพอ คือการขาดพลังหยางและลมปราณ ดังนั้นจึงต้องใช้ยาบำรุงที่บำรุงหยาง(อุ่นบำรุง) และ 精不足 สารจำเป็นไม่เพียงพอ คือการที่อินและเลือดไม่เพียงพอ จึงต้องใช้ยาบำรุงสารอิน
ตามหลักการของ 《เน่ยจิง》: “พร่องให้บำรุง” คุณแม่หลังคลอดมีสภาพร่างกายที่พร่องอย่างมาก ทำให้ต้องบำรุงอย่างมากตามไปด้วย และ “อุ่นบำรุง” ตามไปด้วยเช่นกัน
ดังนั้น การ “อยู่เดือน” จะต้องยึดหลักอย่างง่าย ๆ ว่า ทำให้ร่างกายได้รับสิ่งที่อุ่นและบำรุงให้ได้มากที่สุด นั่นหมายความว่า จะต้องทานอาหารที่มีฤทธิ์อุ่น มีอุณภูมิที่อุ่น(ทำเสร็จใหม่ หรืออุ่นอาหารก่อนรับประทาน) ในขณะที่บรรดาอาหารดิบ อาหารที่มีฤทธิ์เย็น อุณหภูมิเย็น เป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง แม้แต่ผักและผลไม้เอง ก็ควรทานผักและผลไม้ตามฤดูกาลที่นำไปทำให้อุ่นก่อน (เช่นทำไปประกอบอาหาร) ด้วยเช่นกัน
* ในคัมภีร์ 《ซู่เวิ่น• อินหยางอิงเซี่ยงต้าลุ่น》ได้กล่าวถึงการแยกประเภทของยาจีนตามอินหยางเพื่อแยกสรรพคุณของยา คือ 气药 ชี่เย่า ยาลมปราณ คือยาที่เป็นหยาง และ 味药 เว่ยเย่า ยารสชาติ คือยาที่เป็นอิน ดังนั้น 温之以气 จึงมีความหมายว่า ใช้ยาหยางในการอุ่น และ 补之以味มีความหมายว่า ใช้ยาอินในการบำรุง
2. อย่าเพิ่งรีบบำรุงเกินไป
แน่นอนว่าสิ่งที่สำคัญเป็นหลักคือการ “อุ่นบำรุง” แต่จะรีบร้อนเกินไปก็ส่งผลไม่ดีกลับมาเช่นกัน
เพราะการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหาร (ระบบย่อยและดูดซึมสารอาหาร) ของสตรีหลังคลอดบุตรจะมีความอ่อนแอลงจากการพร่องลงของสภาพร่างกาย เพราะการรีบร้อนทานอาหารที่รสหวานและมีมันเยิ้ม (แม้จะเป็นอาหารบำรุงก็ตาม) ในขณะที่การดูดซึมยังไม่ดี จะกลายเป็นว่าอาจจะก่อให้เกิดเป็นโรคขึ้นมาได้
เช่นเดียวกับมุมมองของแพทย์แผนปัจจุบัน ว่ามารดาจะใช้พลังงานอย่างมากในการคลอดบุตรและรก ทั้งระบบเผาผลาญก็จะลดลงอีกด้วย
《ฟู่ชิงจู่หนี่ว์เคอ》: “หญิงเพิ่งคลอดห้ามทานเกา*, เลี่ยงรสที่เข้มข้น, หากทานไม่ถูก, ทำร้ายม้ามกระเพาะแน่นอน”
ในสัปดาห์แรกหลังคลอด ให้ทานอาหารอ่อน ๆ ที่ย่อยและดูดซึมง่ายก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มอาหารที่มีฤทธิ์อุ่นบำรุงลงไปทีละเล็กน้อยอย่างช้า ๆ
ในขณะเดียวกัน จากลักษณะ “พร่องอย่างมาก คั่งอย่างโข” (多虚多瘀) นอกจากพร่องแล้ว ก็ยังมีความ “คั่ง” อยู่อีกด้วย หมายถึง เลือดที่ไหลเวียนไม่สะดวกจนจับตัวกันเข้มข้นหรือเป็นก้อนภายใน และน้ำคาวปลาที่ยังคงคั่งค้างอยู่ในมดลูก
《ไทฉ่านมี่ซู》: “หลังคลอดลมปราณและเลือดพร่องลงมาก, จัดการโดยบำรุงให้มาก, แต่น้ำคาวปลายังไม่หมด, จะให้บำรุงต้องระวังเลือดติดขัด” หมายความว่า นอกจากจะต้องบำรุงอย่างค่อยเป็นค่อยไปแล้ว ยังจะต้องดูเรื่องของการไหลเวียนของเลือดอีกด้วย
*ยาเกา เป็นยาที่มีการกวนผสมยาจีนหลาย ๆ ตัวแล้วเติมน้ำผึ้งหรือน้ำหวานลงไปทำให้ข้น ทานแล้วจะสัมผัสได้ถึงความเหนียวข้นและหวานเลี่ยน เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านอาจจะเคยทานยาประเภทนี้มาแล้ว ยกตัวอย่างเช่นยา “ชวยป๋วยปี่แป่กอ” (川贝枇杷膏 ชวนเป้ยผีผาเกา) ที่เป็นยาแก้ไอสามัญประจำบ้านที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
3. รสชาติต้องอ่อน
《ซู่เวิ่น • อินหยางอิงเซี่ยงต้าลุ่น》: “รสชาติที่เข้มข้นเป็นอิน, ส่วนรสชาติที่อ่อนเป็นหยางในอิน. รสชาติที่เข้มข้นจักขับระบาย, ส่วนรสชาติที่อ่อนจักทำให้ปลอดโปร่ง”
รสชาติที่เข้มข้น หมายถึงอาหารที่มีรสชาติใดใดในรสทั้งห้า (รสทั้งห้าในทฤษฎีในปัญจธาตุได้แต่ เปรี้ยว ขม หวาน เผ็ด เค็ม) ที่มากจนเกินไปจนถึงอาหารที่เลี่ยนและมัน หรือซุปที่มีความข้นมากจนเกินไป
ส่วนรสชาติที่อ่อน หมายถึงอาหารที่มีรสผสมปรุงกันอย่างพอดี ไม่เลี่ยนไม่มัน ไม่เข้มข้นมากจนเกินไป
คำว่า “รสชาติที่อ่อนเป็นหยางในอิน” ทำให้สามารถรักษาหยางท่ามกลางอิน หรือรักษาอินเพื่อส่งผลไปรักษาหยางได้ เพื่อการ “อุ่นบำรุง”
นอกจากนี้หลังจากการคลอด ร่างกายมักจะเกิดสภาวะ “เลือดคั่งมาก” และเพื่อป้องกันการหนืดคั่งของเลือด “รสชาติที่อ่อนจักทำให้โปร่ง” ก็นำมาใช้ในการสลายเลือดคั่งได้เช่นกัน
รสชาติที่เข้มข้นอย่างคร่าว ๆ คืออาหารจำพวก : อาหารที่ก่อให้เกิดความหนาวเย็น อาหารที่มีไขมันสูง อาหารทอด อาหารปิ้งย่างไฟแรง อาหารที่มีกลิ่นแรงหรือปรุงรสด้วยเครื่องเทศแรง อาหารรสเปรี้ยวจัด อาหารเผ็ด เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้คือประเภทอาหารที่ต้องหลีกเลี่ยง
ในขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวัง “อาหารฤทธิ์ร้อน” ด้วยเช่นกัน เนื่องจากอาหารเหล่านี้จะเติมไฟที่มีความร้อนสูงเข้าไปจนลมปราณภายในร่างกายถูกทำลาย (壮火食气 ไฟโหมกลืนลมปราณ) ซึ่งขัดกับการ “อุ่นบำรุง” ที่เน้นการค่อย ๆ ใช้อาหารฤทธิ์อุ่น ๆ เพื่อเติมไฟเล็กร้อนในร่างกายเพื่อให้ค่อย ๆ เสริมสร้างลมปราณขึ้นมา (少火生气 ไฟเล็กสร้างลมปราณ)